Last updated: 21 ก.ย. 2566 | 2042 จำนวนผู้เข้าชม |
เมล่อน (Melon)
เมล่อน (Mlon) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melon L. วงศ์ Cucurbitaceae
เมล่อนมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนทางตอนใต้ของแอฟริกา ปัจจุบันแพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานกรอบและมีกลิ่นหอมละมุน ในประเทศไทยนิยมปลูกในหลายพื้นที่เนื่องจากเมล่อนเป็นพืชที่สามารถปรับต่อสภาพอากาศบ้านเราได้อย่างดี มีทั้งที่ปลูกเพื่อทำการค้าและนำมารับประทานกินเอง
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
ราก เมล่อนมีระบบรากเป็นแบบรากแก้ว (Tap root) และมีรากที่แตกแขนงกระจายออกมารอบต้นราวๆ 30 เซนติเมตร
ลำต้น เป็นไม้เลื้อย เนื้ออ่อน สีเขียวเข้มมีขนอ่อนที่ผิวลำต้น ยาวประมาณ 3-4 เมตร มีมือเกาะ
ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบหยัก ผิวใบหยาบสีเขียวเข้ม มีขนที่ผิวใบ ยาว 6-20 เซนติเมตร กว้าง 7-30 เซนติเมตร
ดอก มีทั้งดอกแบบสมบูรณ์เพศ (Perfect flower หรือ Complete flower) และมีดอกแยกเพศในต้นเดียวกัน (Monoecious) ดอกเลี้ยงและกลีบดอกมี 5 กลีบ
ผล ผลมีลักษณะเป็นทรงกลมหรือทรงกลมรี มีทั้งที่เป็นผิวเรียบและผิวแตกขรุขระ (ผิวร่างแหหรือตาข่าย) ผิวสีเขียวหรือเหลือง เนื้อสีเขียว ขาวและส้ม
ภาพเมล่อนพันธุ์ Beauty Green เมล่อนผิวตาข่ายเนื้อสีขาวอมเขียว หอมหวาน
การปลูกเมล่อนเป็นกิจกรรมที่น่าสนุกและสามารถทำได้ในแปลงของคุณเอง ปลูกได้ทั้งในแปลงปลูกและกระถางหรือถุงดินปลูกได้ ต่อไปนี้คือขั้นตอนและเคล็ดลับในการปลูกเมล่อนให้ได้ผลผลิตที่ดีและคุณภาพสูง
เริ่มต้นด้วยการเพาะเมล็ด เมื่อคุณเลือกพันธุ์เมล่อนที่คุณต้องการแล้ว แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นเป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการงอก หลังจากนั้นก็บ่มด้วยกระดาษทิชชู่แบบชุ่มเล็กน้อย จนรากขาวๆโผล่ออกมาจากเมล็ด เมื่อเมล็ดพร้อมแล้ว นำเมล็ดไปลงในถาดเพาะ ในระยะเวลา 7-10 วัน กล้าจะมีใบเลี้ยงและใบจริง เป็นระยะที่สามารนำมาปลูกลงแปลงหรือดินปลูกที่เราเตรียมไว้ได้
การเตรียมแปลงเพื่อปลูกเมล่อนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้น
จะต้องตรวจสอบคุณภาพดินและแปลงปลูก หากจำเป็นให้ทำการปรับสภาพดินโดยใช้โดโลไมท์เพื่อเพิ่มความเป็นด่าง และเติมปุ๋ยหมักเพื่อดินมีธาตุอาหารเหมาะสมพอต่อการต้องการของต้นเมล่อน การเตรียมแปลง ขุดร่องขึ้นแปลงมาตรฐาน สูง 30-40 เซนติเมตร หน้ากว้า 1-1.2 เมตร ทำค้างสำหรับให้เถาเลื้อยขึ้น ใช้พลาสติกคลุมแปลงเพื่อป้องกันวัชพืช ปลูก 2 แถว ระยะห่างระหว่างต้น 70-80 เซนติเมตร หากปลูกในกระถางหรือถุงดินเพาะปลูกให้เว้นระยะห่างระหว่างต้นตามความเหมาะสม
ภาพการปลูกเมล่อนในโรงเรือน
การดูแลต้นเมล่อนให้เติบโตแข็งแรงและมีผลผลิตที่ดี
ในระยะเริ่มต้นให้ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 เมื่อต้นเริ่มเด็ดแขนงให้ใช้ปุ๋ยสูตร (15-15-15) ทุก 15 วัน การจัดการและการตัดกิ่งแขนงออก โดยเก็บกิ่งแขนงสำหรับผสมดอกข้อที่ 8-12 นิยมช่วยผสมดอกเพื่อให้ติดผลดี เก็บ 1-2 ลูกต่อต้น และตัดยอดที่ข้อที่ 25 ในระยะการบำรุงผล (อายุ 40-50 วัน) ให้ใช้ปุ๋ยสูตร (13-13-21) ฉีดพ่นอาหารเสริม ในระยะบำรุงผลเพื่อเพิ่มความหวาน, ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ทุก 3-5 วัน เมื่อเมล่อนที่สุกแก่จะมีการเปลี่ยนแปลงในผิว, กลิ่น, และรูปร่าง (อายุเก็บเกี่ยว 60-65 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูและสภาพอากาศ) ก่อนเก็บเกี่ยว 2 วัน, งดการให้น้ำเพื่อเพิ่มความหวานในผล
ภาพระยะผลเมล่อนที่เริ่มใกล้เก็บเกี่ยว
สำหรับโรคและแมลงที่พบในเมล่อนนั้น จะพบโรคยางไหล ( Gummy Stem Blight) ที่เกิดจากแบคทีเรียในดิน (เชื้อสาเหตุ Didymella bryoniae ( Auersw.) Rehm) โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ส่งผลให้ต้นยืนตายในที่สุด สามารถป้องกันได้จากการเตรียมดินก่อนการย้ายปลูกต้นกล้า, และโรคราน้ำค้าง มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา (เชื้อสาเหตุ Peronosclerospora sorghi) เข้าทำลายที่ใบจนใบไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้และส่งผลทำให้ไม่ได้ผลผลิตที่ดีตามที่ควร ระบาดมากในฤดูหนาว ป้องกันได้ด้วยกันฉีดล้างใบ และสารป้องกันกำจัดสาเหตุโรคพืช สำหรับแมลงที่พบส่วนมากจะเป็นแมลงวันหนอนชอนใบ (Leaf miner) กับแมลงด้วงเต่าแตง (Leaf beetle) ที่เข้ามาทำลายในส่วนของใบ, และแมลงวันทองเจาะผลเมล่อนอีกหนึ่งแมลงเจ้าปัญหาที่เข้ามาทำลายผลระยะอ่อนของเรา การฉีดพ่นสารป้องกันแมลงและกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอนั้น ช่วยให้เราได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้อย่างเหมาะสม
ภาพเมล่อนที่เป็นโรคราน้ำค้าง
การปลูกและดูแลเมล่อนไม่ยากเกินไป แต่ควรใส่ใจในขั้นตอนและการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี
ภาพเมล่อนพันธุ์ Beauty Orange เมล่อนผิวตาข่ายเนื้อส้ม หวานกรอบ
ภาพเมล่อนพันธุ์ Gold Seven เมล่อนผิวสีทอง เนื้อหวานกรอบ
14 มี.ค. 2567
6 พ.ย. 2567
15 มี.ค. 2567
17 ก.ย. 2567